การตัดแต่งกิ่งลำไย

Add Friend
ต้องการติดต่อเรากดปุ่ม Add Friends ข้างบนนี้เลยครับ Line ID. : tewinonline หรือโทรมาที่เบอร์นี้เลยครับ : 089-5599-056 เทวินการเกษตร
ซื่อสัตย์ ตรงเวลา รักษาคำพูด ขายสินค้าคุณภาพ

การตัดแต่งกิ่งลำไย 3 เทคนิคก่อนการารดสารลำไย

การตัดแต่งกิ่งลำไย

? ความสำคัญของการตัดแต่งกิ่งลำไย

ปัญหาที่สำคัญอย่างหนึ่งของการผลิตลำไยของเกษตรกรทั้งแบบรายย่อยและเพื่อการค้าคือ ต้นลำไยที่มีลักษณะทรงพุ่มสูงใหญ่ ทำให้ไม่สะดวกต่อการดูแลรักษาและเก็บเกี่ยวผลผลิต ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตสูง วิธีหนึ่งที่ใช้แก้ปัญหาดังกล่าวคือ การตัดแต่งกิ่ง ซึ่งเกษตรกรต้องคำนึงถึงให้มาก เพราะการตัดแต่งกิ่ง จะมีผลต่อการเจริญเติบโต และการออกดอกติดผลเป็นอย่างมาก

? การตัดแต่งกิ่งเกิดประโยชน์หลายประการ คือ

  1. เพื่อควบคุมขนาดความสูงและทรงพุ่มลำไยได้ตามความต้องการ เกิดความสะดวกต่อการใช้สารป้องกันและกำจัดโรค – แมลงศัตรูพืช ทำให้เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ง่าย และช่วยลดค่าใช้จ่ายในเรื่องไม้ค้ำยันกิ่ง รวมทั้งลดต้นทุนการผลิต
  2. ช่วยให้ต้นลำไยมีอายุยืนยาว และให้ผลผลิตสม่ำเสมอ เพราะการตัดแต่งกิ่ง จะมีผลต่อการแตกตา ซึ่งจะเร่งให้ลำไยแตกใบอ่อน ทำให้ต้นลำไยฟื้นตัวได้เร็ว ใบใหม่ที่เกิดขึ้นจะทำหน้าที่สร้างอาหารสะสมไว้สำหรับการออกดอกติดผลในฤดูกาลถัดไป และลดค่าใช้จ่ายด้านธาตุอาหารและสารต่าง ๆ เนื่องจากได้ตัดกิ่งส่วนที่ไม่มีประโยชน์ออกไปแล้ว
  3. ทำให้ทรงพุ่มไม่ทึบเกินไป อากาศถ่ายเทได้สะดวก และแสงแดดส่องเข้าไปในทรงพุ่มได้มากขึ้น ทำให้ต้นลำไยตอบสนองต่อสารลำไยหรือสารโพแทสเซียมคลอเรตได้ดี ส่งผลให้ลำไยออกดอกมากขึ้น แต่ลดปริมาณการใช้สารราดลำไยลงลง รวมทั้งลดการเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของโรค-แมลงศัตรูได้บ้างเช่น โรคราดำ โรคจุดสาหร่ายสนิม เพลี้ยหอย เพลี้ยแป้ง เป็นต้น
  4. ทำให้ผลผลิตมีคุณภาพดี ได้ผลขนาดใหญ่ขึ้น และคุณภาพผลผลิตโดยรวมดีขึ้นการตัดแต่งกิ่งมีจุดประสงค์หลักคือ ตัดกิ่งที่ไม่ต้องการหรือเป็นส่วนเกินออก เพื่อลดการใช้อาหารในต้น จึงทำให้ต้นลำไย มีธาตุอาหารเหลือพอที่จะไปเลี้ยงส่วนที่เหลือให้สมบูรณ์แข็งแรง หลักการง่ายๆก็คือ ใบลำไยมีหน้าที่สร้างอาหารไปเลี้ยงลำต้น แต่ถ้าทรงพุ่มแน่นทึบเกินไป ก็จะมีส่วนของใบที่ไม่ถูกแสงแดด ดังนั้น ใบและกิ่งเหล่านั้น จึงกินอาหารอย่างเดียวโดยไม่ได้ช่วยสร้างดอกและผล ผลก็คือ ใบที่เหลือต้องสร้างอาหารแล้วเอามาแบ่งให้กับกิ่งและใบที่อยู่ในร่ม แทนที่จะเก็บไว้ออกดอกและสร้างผล ดังนั้น การตัดแต่งกิ่งในส่วนที่ไม่ค่อยได้รับแสงออกไป จึงเป็นที่มาของการตัดแต่งกิ่ง

ก่อนการตัดแต่งกิ่ง ต้องเตรียมความพร้อมให้กับต้นลำไยก่อน เป็นการจัดการเพื่อกระตุ้นให้เกิดการแตกใบและกิ่งที่สมบูรณ์ให้พร้อมสำหรับการออกดอก และได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ

หลักการตัดแต่งกิ่งลำไยนั้นควรทำให้เร็วที่สุดภายหลังการเก็บเกี่ยว

ผลผลิต เพื่อชักนำให้เกิดการแตกกิ่งใหม่ที่สมบูรณ์ โดยตัดกิ่งหลักที่อยู่กลางพุ่มออก 2-3 กิ่ง เพื่อให้ต้นลำไยได้รับแสงแดดมากขึ้น และยังเป็นการช่วยชะลอความสูงของต้น หลังจากนั้น ต้องตัดกิ่งกระโดง กิ่งที่ไม่ได้รับแสงแดด กิ่งที่ไม่สมบูรณ์ และตัดกิ่งที่ถูกโรคหรือแมลงทำลายทิ้ง ควรให้เหลือกิ่งอยู่ประมาณ60% ของทรงพุ่ม กล่าวโดยสรุปก็คือตัดเพื่อให้ใบส่วนใหญ่ที่เหลืออยู่ได้รับแสงแดดได้มากที่สุด

 ชาวสวนลำไยหลายราย ยังตัดแต่งกิ่งลำไยไม่ถูกวิธี ทำให้เกิดความเสียหายต่อต้นลำไยอย่างมาก การตัดแต่งกิ่งจะต้องคำนึงถึงพื้นที่ในการออกดอกติดผลของลำไย ความสะดวกต่อการดูแลรักษาและต้นทุนการผลิต หากเป็นไปได้ เกษตรกรควรเรียนรู้เทคนิคการตัดแต่งกิ่ง ซึ่งจะช่วยให้การผลิตลำไยมีคุณภาพดีการตัดแต่งกิ่งลำไยนั้น ทำได้หลายรูปทรง ซึ่งมีผลแตกต่างกันไป แต่ที่จะแนะนำต่อไปนี้ เป็นวิธีที่ให้ผลดี 3 วิธี หรือ 3 เทคนิค ได้แก่ เทคนิคการตัดแต่งกิ่งทรงเปิดกลางพุ่มเทคนิคการตัดแต่งกิ่งทรงฝาชีหงาย และ เทคนิคการตัดแต่งกิ่งทรงสี่เหลี่ยม ให้พิจารณาเลือกใช้ตามสภาพของอายุของต้นและระยะปลูก อุปกรณ์ในการตัดแต่งกิ่งลำไย ได้แก่

เลื่อย ใช้สำหรับตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดใหญ่ เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ตั้งแต่ 0.5 – 4.0 นิ้ว

– กรรไกร ใช้สำหรับตัดแต่งกิ่งที่มีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลางของกิ่ง ไม่เกิน 0.5 นิ้ว

? 1. เทคนิคการตัดแต่งกิ่งลำไยทรงเปิดกลางพุ่ม

การตัดแต่งกิ่งแบบเปิดกลางพุ่ม หรือที่ชาวบ้านเรียกกันว่า ทรงเปิดกะโหลก เป็นทรงยอดนิยมแบบหนึ่ง และทำกันในหลายพื้นที่ โดยจะตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออก 2-5 กิ่งใหญ่ เพื่อลดความสูงของต้น และให้แสงแดดส่องเข้าในทรงพุ่มได้ทั่วถึง จากนั้น ก็ตัดกิ่งที่อยู่ด้านในทรงพุ่มที่ไม่ถูกแสงออกไปบ้าง ตัดกิ่งขนาดใหญ่ข้างทรงพุ่ม กิ่งที่เป็นโรค-แมลงกัดกิน กิ่งที่ไขว้กัน กิ่งที่ซ้อนทับกัน และกิ่งที่ชี้ลง การตัดทรงเปิดกลางพุ่มนี้จะชะลอความสูงของลำต้นได้นาน เป็นการลดต้นทุนเรื่องไม้ค้ำยัน

เทคนิคและวิธีการทำ ทำได้โดยตัดแต่งกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออก 2 – 5 กิ่ง แล้วตัดแต่งกิ่งที่อยู่ด้านในทรงพุ่มที่ไม่ได้รับแสง ควรตัดกิ่งที่มีขนาดใหญ่ทางด้านข้างของทรงพุ่มออกบ้างเพื่อให้แสงส่องเข้าไปในทรงพุ่มได้ทั่วถึง ขณะเดียวกัน ต้องตัดกิ่งที่ถูกโรค-แมลงทำลาย ตัดกิ่งที่ไขว้กัน กิ่งซ้อนทับ และกิ่งที่ชี้ลง ออกไปด้วย

? 2.เทคนิคการตัดแต่งกิ่งลำไยทรงฝาชีหงาย

ยังมีการตัดแต่งกิ่งแบบตัดหนักอีกแบบหนึ่ง ที่เรียกว่า ทรงฝาชีหงาย ซึ่งก็คล้ายกับแบบเปิดกลางพุ่ม แต่แบบนี้ตัดหนักกว่า คือเอากิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออกหมดเลย ให้เหลือแต่กิ่งในแนวนอนเท่านั้น เพราะการออกดอกของลำไย จะออกที่ปลายกิ่ง เมื่อมีการตัดกิ่งในแนวตั้งออกไปแล้ว ก็จะมีการแตกกิ่งใหม่ขึ้นมาจากกิ่งที่เหลืออยู่เป็นจำนวนมาก จึงสามารถออกดอกได้มาก เมื่อมีการใช้สารลำไยบังคับหรือเร่งให้ออกดอก

เทคนิคและวิธีการทำ ทำได้โดยตัดกิ่งที่อยู่กลางทรงพุ่มออกให้หมด ให้เหลือเฉพาะ

กิ่งที่เจริญในแนวนอน หลังจากนั้น จะเกิดกิ่งใหม่ขึ้นตามกิ่งหลักที่เจริญในแนวนอน( กิ่งกระโดง )ซึ่งจะออกดอกได้ภายใน 4 – 6 เดือนหลังตัดแต่ง และช่อผลลำไยที่เกิดจากกิ่งกระโดงเมื่อผลใกล้

แก่จะโน้มลง หลบเข้าในทรงพุ่ม ทำให้ผลลำไยมีขนาดใหญ่ และผิวเปลือกมีสีเหลืองทอง ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาด

วิธีนี้มีข้อดีหลายอย่าง อาทิ ต้นลำไยจะมีทรงเตี้ย สามารถควบคุมความสูงของทรงพุ่มให้อยู่ในระดับเดิมได้ทุกปี ทั้งยังช่วยกระตุ้นการแตกใบอ่อนให้เร็วขึ้น ผลผลิตที่ได้จะมีคุณภาพดี โดยเฉพาะผลลำไยที่เกิดจากกิ่งกระโดงในทรงพุ่ม จะมีผิวสีเหลืองทอง ผลโต เป็นที่ต้องการของ

ตลาด และสามารถลดต้นทุนการผลิตได้ 20 – 50%

ข้อจำกัด คือ ถ้าตัดแต่งขนาดทรงพุ่มออกมากเกินไป ผลผลิตเฉลี่ยต่อต้นอาจลดลงรวมทั้งเกิดอาการต้นลำไยเปลือกแตกมาก เนื่องจากการตัดเปิดกลางทรงพุ่มออกไปมาก ทำให้แสงแดดส่องกระทบกิ่งและลำต้นมาก ส่งผลให้ลำไยแตกกิ่งกระโดงช้า และเกิดอาการเปลือกแตกมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้นลำไยที่มีอายุมาก เพื่อลดปัญหาอาการเปลือกแตก ควรตัดแต่งกิ่งลำไยแบบฝาชีหงายในฤดูฝนและลดความสูงไม่เกินร้อยละ 30 ของความสูงเดิมการตัดแต่งกิ่งทรงฝาชีหงาย นี้ การออกดอกในปีแรก จะให้ผลผลิตน้อย แต่ปีต่อไปจะเพิ่มผลผลิตขึ้นมาก ผลลำไยที่ได้จะมีผลโตและเปลือกผลมีสีสวยงาม

? 3.เทคนิคการตัดแต่งกิ่งลำไยทรงสี่เหลี่ยม

ยังมีการตัดแต่งในรูปแบบอื่นอีก เช่น ตัดเป็นรูปสี่เหลี่ยม คล้ายๆ กับแนวรั้วต้นชาดัดรั้วต้นดอกเข็ม หรือรั้วต้นพู่ระหง ซึ่งวิธีนี้ เป็นการควบคุมทรงพุ่มให้เตี้ยและมีขนาดเล็ก ทำให้เก็บผลผลิตได้ง่ายและทำได้รวดเร็วขึ้น ยิ่งกว่านั้น เมื่อมีการใช้สารเคมีและสารลำไย หรืออื่นๆ ก็จะสิ้นเปลืองน้อยลง และอันตรายก็น้อยลง เพราะไม่ค่อยมีการสูญเสียและไม่ฟุ้งกระจายเทคนิคและวิธีการทำ เหมาะสำหรับสวนที่มีต้นลำไยอายุน้อย และปลูกระยะชิดเกษตรกรอาจตัดแต่งกิ่ง “ทรงสี่เหลี่ยม” โดยกำหนดความสูงของทรงพุ่มอยู่ระหว่าง 2 – 3 เมตรทำได้โดยนำไม้ไผ่มาทำเครื่องหมายตามความสูงที่ต้องการ แล้วนำไปทาบที่ต้นลำไย กิ่งที่สูงเกินเครื่องหมาย ก็ตัดออกให้หมด จากนั้น ให้ตัดปลายกิ่งด้านข้างทรงพุ่มออกทั้ง 4 ด้าน จะตัดออกเท่าใด ขึ้นอยู่กับระยะปลูก และทรงพุ่มเดิม หากมีทรงพุ่มใกล้จะชนกัน ก็ตัดออก โดยทั่วไปแนะนำให้ตัดลึกจากปลายกิ่งเข้าไปประมาณ 30 – 50 เซนติเมตร รูปทรงที่ได้จะเป็นทรงสี่เหลี่ยมผืนผ้า ภายหลังการตัดแต่งกิ่งประมาณ 2 สัปดาห์ ต้นลำไยจะเริ่มแตกใบ ถ้าต้องการให้ต้นลำไยสมบูรณ์เต็มที่ ควรให้มีการแตกใบ 3 ครั้ง ใช้เวลาประมาณ 6 เดือน นับตั้งแต่ตัดแต่งกิ่งก็สามารถชักนำการออกดอกได้

หลังการตัดแต่งกิ่ง ต้องเร่งบำรุงต้น โดยให้ปุ๋ยอินทรีย์ (ปุ๋ยคอกและหรือปุ๋ยหมัก)อัตรา 10 – 20 กิโลกรัม/ต้น ควบคู่กับปุ๋ยเคมี ซึ่งในระยะนี้ต้นลำไยต้องการธาตุไนโตรเจนฟอสฟอรัส และโพแทสเซียม คิดเป็นสัดส่วน 4:1:3 สูตรปุ๋ยเคมีที่แนะนำให้ใช้ควรเน้นธาตุไนโตรเจนและโพแทสเซียม เช่น สูตร 46-0-0, 15-15-15 และ 0-0-60 ส่วนอัตราการใช้ขึ้นอยู่กับขนาดทรงพุ่ม ( ปริมาณการใช้ปุ๋ยศึกษาได้จากหัวข้อวิธีใส่สารลำไย )

หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตแล้ว เกษตรกรควรวางแผนเตรียมความพร้อมต้นลำไย เร่งตัดแต่งกิ่ง เพื่อผลิตลำไยนอกฤดูคุณภาพดี ป้อนตลาดต่อไป และเมื่อถึงฤดูกาลเก็บเกี่ยวอีกครั้งหลังจากเก็บเกี่ยวลำไยหมดต้นแล้ว ก็กลับเข้าสู่ช่วงเวลาตัดแต่งกิ่งในรอบต่อไป

สรุป การตัดแต่งกิ่งทรงฝาชีหงายและทรงสี่เหลี่ยม มีผลกระตุ้นการแตกใบอ่อนได้ดีที่สุด และยังมีปริมาณกิ่งกระโดงสะสมที่มากกว่าทรงเปิดกลางทรงพุ่ม ส่วนการตัดแต่งทรง ฝาชีหงายทำให้ได้สัดส่วนของผลผลิตขนาดใหญ่มากกว่าการตัดแต่งรูปทรงอื่น ๆ อย่างเด่นชัด จนทำให้ได้ราคาเฉลี่ยสูงทีสุด และได้กำไรมากที่สุด รองลงมาคือทรงสี่เหลียม

แต่..ไม่ว่าจะตัดแต่งกิ่งแบบไหน อย่างแรกเลยที่ชาวสวนต้องเข้าใจคือ ต้องรู้ว่าตัดแต่งไปทำไม และต้องเข้าใจธรรมชาติของต้นไม้ว่า เมื่อตัดแล้ว ไม่ต้องกลัวว่าต้นไม้จะตาย เพราะจะมีใบอ่อนแตกออกมาทดแทนของเดิม แต่หากตัดมากเกินไป ก็จะได้แต่ใบ เพราะต้นไม้ต้องสร้างใบขึ้นมาชดเชยส่วนที่หายไป ถ้าตัดน้อยเกินไป ก็ไม่เกิดประโยชน์ ยังมีการแย่งอาหารกันอยู่ที่สำคัญคือ ต้องใจกล้าพอที่จะตัดแต่งกิ่งต้นไม้ อาจต้องทดลองทำสัก 1-2 ต้น ดูก่อนก่อนที่จะปฏิบัติจริงทั้งสวน เมื่อชาวสวนเก็บเกี่ยวลำไยหมดต้นแล้ว ก็ถึงช่วงเวลาตัดแต่งกิ่ง ให้ปุ๋ยเพื่อเตรียมต้นสำหรับการออกดอกในปีต่อไป ซึ่งขั้นตอนนี้ ก็เป็นอีกหนึ่งกระบวนการ ที่จะทำให้ได้ลำไยผลโต รสชาติดี ที่คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ

-หลังจากการตัดแต่งกิ่งเราสามารถศึกษาวิธีการใส่สารราดลำไย สูตรราดสารลำไยได้ที่นี่ >>> คลิกที่นี่

-สนใจสารราดลำไยหรือสูตรการราดสารลำไยและสูตรการพ่นสารลำไยทางใบ กรุณาติดต่อ เทวินการเกษตร 089-5599056 บริการส่งทั่วประเทศ หรือ คลิกกดที่นี่…..

????????????

? เรียบเรียงโดย : เกตุอร ทองเครือ

กลุ่มสื่อส่งเสริมการเกษตร สำนักพัฒนาการถ่ายทอดเทคโนโลยี

กรมส่งเสริมการเกษตร

? ข้อมูลและภาพประกอบ : ผศ.พาวิน มะโนชัย และคณะ

จากคณะผลิตกรรมการเกษตร มหาวิทยาลัยแม่โจ้

ศูนย์วิจัยและพัฒนาลำไยแม่โจ้__

สินค้าของเรา