การใช้สารคลอเรตเพื่อการผลิตลำไยอย่างปลอดภัย

Add Friend
ต้องการติดต่อเรากดปุ่ม Add Friends ข้างบนนี้เลยครับ Line ID. : tewinonline หรือโทรมาที่เบอร์นี้เลยครับ : 089-5599-056 เทวินการเกษตร
ซื่อสัตย์ ตรงเวลา รักษาคำพูด ขายสินค้าคุณภาพ

 

การใช้สารคลอเรตเพื่อการผลิตลำไยอย่างปลอดภัย

การผลิตและการปลูกลำไย

การ ผลิตลำไยในประเทศไทยส่วนใหญ่พื้นที่การผลิตอยู่ทางภาคเหนือของประเทศไทย ในอดีตการปลูกลำไยมีปัญหาที่สำคัญและเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรเป็นอย่างมาก ซึ่งทำให้ผู้ปลูกลำไยเองสูญเสียรายได้ต่อปีเป็นจำนวนมาก ปัญหานั้นก็คือการออกดอกและติดผลไม่สม่ำเสมอของต้นลำไย แต่ปัจจุบันปัญหาเรื่องการออกดอกของลำไยสามารถแก้ไขได้ โดยการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) เพื่อ กระตุ้นหรือชักนำการออกดอกของลำไย โดยเฉพาะในแหล่งผลิตลำไยที่จังหวัดลำพูน เชียงใหม่ ลำปาง เชียงราย และพะเยา หรือที่ในแถบจังหวัดตาก กำแพงเพชร และจันทบุรี ส่วนการผลิตลำไยนอกฤดูเป็นอีกทางเลือกที่เกษตรชาวสวนลำไย โดยจะทำให้ผลผลิตลำไยออกมาไม่ตรงกับผลผลิตตามฤดูกาล เพื่อเป็นการเพิ่มราคาของผลผลิตลำไย หรือแม้กระทั่งช่วงในฤดูกาลเกษตรกรก็มีการใช้สารเพื่อเพิ่มความมั่นใจในการ ออกดอกและติดผลของลำไยในฤดูกาล โดยการผลิตลำไยนอกฤดูมีข้อพิจารณาหลายๆ อย่างประกอบกันเพราะในแต่ละสภาพพื้นที่อาจจะมีการปฏิบัติไม่เหมือนกัน เช่นในที่ลุ่มที่มีระดับน้ำใต้ดินตื้น หรือที่สูงที่มีระดับน้ำใต้ดินลึก การทำลำไยนอกฤดูน้ำเป็นปัจจัยที่ค่อนข้างสำคัญ รวมทั้งต้องบำรุงต้นลำไยให้สมบูรณ์ เพราะการให้สารโพแทสเซียมคลอเรต มีผลเฉพาะกระตุ้นให้ต้นลำไยออกดอกเท่านั้น การติดผลขึ้นอยู่กับช่วงเวลาที่ให้ คุณภาพของผลผลิตและการฟื้นตัวของต้นลำไยขึ้นอยู่กับการจัดการของเจ้าของสวน เอง

 

การใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตอย่างปลอดภัย

การใช้สารอย่างปลอดภัยต่อตัวผู้ใช้
เกษตรกร ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของตัวเอง โดยขณะใช้ต้องอย่าสัมผัสสาร ควรใส่ถุงมือทุกครั้งขณะให้สารทางดิน หรือหากให้สารทางใบจะต้องมีการป้องกันร่างกายโดยการสวมชุดป้องกันทุกครั้ง ขณะ พ่น และไม่ควรนึกว่า ไม่เป็นไรนิดเดียว เพราะเราควรถือคติว่าป้องกันไว้ก่อนที่จะสายเกินไป รวมทั้งการเก็บรักษา การเตรียมสารจะต้องปฏิบัติตามคำแนะนำจากนักวิชาการอย่างเคร่งครัด เพราะไม่เช่นนั้นแล้วหากเกิดผลร้ายตามมา จะได้ไม่คุ้มกับที่เสียไป และไม่อยากให้เกิดเหตุการณ์ วัวหายแล้วจึงล้อมคอก เป็นประจำครั้งแล้วครั้งเล่า การปฏิบัติในช่วงใช้สาร ต้องเตรียมอุปกรณ์ได้แก่ ชุดป้องกันที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ รองเท้าบู๊ตที่ทำด้วยใยสังเคราะห์ แว่นตาชนิดที่กระชับลูกตาและอุปกรณ์ปิดจมูก ถุงมือยางและหมวก การพ่นสารโพแทสเซียมคลอเรตทางใบให้ปกิบัติเช่นเดียวกับการพ่นสารป้องกัน กำจัดแมลงเพื่อป้องก้นการสัมผัสสารโดยตรง ต้องสวมชุดป้องกันให้มิดชิด การปฏิบัติหลังการใช้สาร หลังราดสารหรือหลังจากพ่นสารแล้วควรมีการทำความสะอาดชุดสวมใส่และทำความ สะอาดร่างกาย ระวังสัตว์เลี้ยงอย่าให้มากินหญ้าในบริเวณที่ให้สาร ทำความสะอาดอุปกรณ์ที่ใช้ เช่นถังน้ำที่ใช้ผสมสาร หรือ ถังพ่นสารเคมี และเก็บสารเคมีที่เหลือไว้ให้มิดชิดและเก็บในที่ปลอดภัย

การใช้สารเพื่อให้ปลอดภัยต้นลำไย

ต้น ลำไยก็เหมือนกับสิ่งมีชีวิตทั่วๆไป คือหากกินไม่อิ่ม ก็จะเกิดการไม่สมบูรณ์ ไม่แข็งแรง ดังนั้นหากเราให้ต้นลำไยออกดอกติดผลมากเกินไป และมีการจัดการไม่ดีแล้วต้นลำไยของท่านก็มีโอกาสทรุดโทรมได้ เนื่องจากการใช้สารทางดิน จะทำให้ลำไยออกดอกมาก ซึ่งจะต้องการการจัดการต่างๆ มากขึ้นไปด้วย ดังนั้น เกษตรกร ควร ไม่ปล่อยให้ลำไยมีการติดผลมากเกินไป ถ้าเป้นไปได้ควรมีการตัดออกบ้าง เพื่อเป็นการลดภาระของต้นลำไยในการหาเลี้ยงผล รวมทั้งควรมีการจัดการต่างๆเป็นอย่างดี ส่วนการให้สานนั้นเกษตรกร ไม่ควรไส่สารมากกว่าที่นักวิชาการแนะนำ เนื่องจากมีเกษตรกรบางราย มีการใส่สารซ้ำทางดินหลังจากที่ใส่ไปแล้ว 20 กว่า วันเมื่อลำไยไม่ออกดอก และจะใส่ซ้ำอีกมาลำไยยังไม่แทงช่อเพราะเกษตรกรชาวสวนลำไยใจร้อน แต่ในความเป้นจริงแล้วข้อมูล จากงานวิจัยนั้นลำไยอาจใช้เวลาถึง 45 วัน ถึงออกดอกก็ยังมี รวมถึงยังมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องที่ยังไม่ทราบอีกมากมาย เช่น แสง ความชื้นและอุณหภูมิเป็นต้น ดังนั้นเกษตรกรจึงไม่ควรใส่สารซ้ำอีก รวมทั้งเราอาจลดปริมาณการใช้สารที่อาจตกค้างในดิน ซึ่งอาจส่งผลต่อลำไยในระยะยาว มาเป็นการให้สารทางใบเพราะใช้สารน้อยกว่าทางดินถึง 20-30 เท่า และไม่มีผลตกค้างในดิน วิธีการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตที่นิยมใช้ 2 วิธีคือ

2.1.การปฏิบัติในการให้สารทางดิน

โดย การหว่านสารภายในทรงพุ่มแล้วให้น้ำตามหรืออาจทำเป็นร่องรอบทรงพุ่มแล้วให้ สารในร่องแล้วให้น้ำตามหรือใช้สารละลายน้ำแล้วราดในทรงพุ่มก็ได้ และจะต้องมีการใสถุงมือและร้องเท้าบู๊ตในการราดสาร ห้ามสูบบุหรี่ขณะที่ราดสาร และต้องระวังอย่าให้สารสัมผัสกับผิวหนังหรืออวัยวะต่างๆ โดยตรงการให้สารทางดิน โดย โดยพันธุ์ดอ พันธุ์แห้ว พันธุ์ใบดำ พันธุ์พวงทอง พันธุ์เบี้ยวเขียวและพันธุ์พื้นเมือง ใช้สาร 5  ถึง10 กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่ม ส่วนพันธุ์สีชมพู ใช้สาร 2.5-5  กรัมต่อตารางเมตรของทรงพุ่มระยะเวลาการออกดอกขึ้นอยู่กับฤดูกาลประมาณ 21-35 วัน หลังการให้สาร และการให้สารโพแทสเซียมคลอเรตทางดินยังส่งผลทำให้รายของต้นลำไยบางส่วนถูก ทำลายเนื่องจากได้รับสารในระดับที่ความเข้มข้นสูง

2.2.การปฏิบัติในการพ่นสารทางใบ

ใช้ความเข้มข้นเท่ากันประมาณ 1-2 กรัมต่อน้ำ 1 ลิตร (20-40 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ 2-4 ขีดต่อน้ำ 200 ลิตร) โดยพ่นให้ทั่วทรงพุ่มควรเน้นบริเวณปลายยอดสามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ แต่ในช่วงหน้าฝนถ้ามีฝนตกควรมีการพ่นสาร 2 ครั้งห่างกัน 7 วัน การพ่นสารในช่วงก่อนฤดูกาล หรือให้ลำไยออกในฤดูกาลหรือหลังฤดูกาลไม่เกิน 2 เดือน จะทำให้ต้นลำไยมีเปอร์เซ็นต์การออกดอกสูง และการพ่นสารทางใบควรมีการป้องกันแมลงในช่วงที่มีการแทงช่อดอก เพราะถ้าช่อดอกถูกทำลายช่อนั้นจะไม่มีการแทงช่อดอกตามมาอีก ซึ่งอาจเนื่องจากการพ่นใช้สารในปริมาณ จึงมีผลตกค้างในต้นน้อยจึงไม่สามารถชักนำให้ลำไยออกดอกได้อีก ซึ่งจะแตกต่างจากการให้สารทางดิน จะสามารถกระตุ้นให้ลำไยออกดอกได้ตามมาอีกหารมีการใช้สารมากเกินไป สารโพแทสเซียมคลอเรตที่ใช้จะไม่มีการผสมสารอื่นและไม่ต้องมีการผสมสารใดใน การพ่น ไม่ควรใช้สารในปริมาณสูงกว่านี้ หากใช้ในอัตราสูงอาจทำให้ลำไยใบไหม้และร่วงได้ จากการทดลองพ่นเพียงครั้งเดียวก็สามารถทำให้ลำไยออกดอกได้ แต่ถ้าจะให้มีการออกดอกเพิ่มขึ้นควรพ่น 2 ครั้ง การเตรียมสารโดยนำสารมาละลายสารกับน้ำเปล่าให้หมดก่อนแล้วนำสารเทใส่ถังพ่นยา และผสมสารจับใบตามอัตราที่กำหนดข้างสลาก
ควรพ่นในตอนเช้าหรือช่วงอากาศไม่ร้อน ถ้าพ่นช่วงอาการร้อนอาจทำให้เกิดอาการใบไหม้และถ้ามีฝนตก 1-2 วัน หลังจากพ่นแล้วควรพ่นสารใหม่อีกครั้ง ควรพ่นในช่วงที่ลำไยมีใบแก่เท่านั้น เพราะหากพ่นในใบอ่อนลำไยอาจออกดอกไม่ดี คือช่อที่แตกออกมาจะมีการพัฒนาใบก่อนแล้วแตกดอกตามอาจทำให้ช่อดอกสั้นและการ พ่นควรพ่นให้โดนส่วนของปลายยอดลำไยให้มากที่สุดเพราะจะเป็นจุดที่มีการออดอก

ผลกระทบจากการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรต

หลังจากมีการใช้สารโพแทสเซียมคลอเรตกระตุ้นการออกดอกของลำไย 3-4 ปี ที่ผ่านมาพอจะสรุปผลของการใช้สาร ทั้งทางด้านผลกระทบต่อต้นลำไย ผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม รวมทั้งผลกระทบทางด้านราคาซึ่งจะไม่ขอกล่าวในที่นี้

  1. 1.การออกดอกและติดผลมากเกินไป เนื่อง จากเกษตรกรปล่อยให้ต้นลำไยมีจำนวนกิ่งมากทำให้ต้นลำไยมีการออกดอกมากทำให้ผล ผลิตไม่มีคุณภาพ การใช้สารครั้งแรกกับต้นลำไยที่ยังไม่เคยให้สารมาก่อน พบว่าต้นลำไยมีการออกดอกและติดผลมากเกินไปทำให้ผลผลิตมีขนาดเล็กไม่ได้ คุณภาพ แนวทางแก้ไขโดยการบำรุงต้นให้สมบูรณ์ จัดการดินและปุ๋ยอย่างเหมาะสมหรือการตัดแต่งช่อผล หรือการตัดแต่งกิ่งให้เหลือเฉพาะกิ่งที่สมบูรณ์ก่อนการให้สาร
  2. 2.การออกดอกซ้ำซ้อนหลังการให้สาร เกิดจากเกษตรกรมีการให้สารมาก โดยเฉพาะการให้สารทางดิน ส่วนมากจะเกิดกับต้นลำไยหรือกิ่งลำไยที่มีการออกดอกและติดผลน้อยหรือไม่ติด ผล ต้นลำไยจะมีการแทงช่อดอกซ้ำ มีผลทำให้มีการติดผลซ้ำซ้อนทำให้ยากในการปฏิบัติดูแลรักษา ทำให้ช่อดอกค่อนข้างสั้นและได้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ (ภาพที่3)
  3. 3.การให้สารแล้วต้นลำไยแทงช่อดอกช้า ก่อนการให้สารไม่ว่าจะพ่นทางใบหรือให้ทางดิน จะต้องงดการใส่ปุ๋ยคอก ปุ๋ยหมักหรือปุ๋ยวิทยาศาสตร์ในช่วงก่อนการใช้สาร ควรใส่ในช่วงที่ต้นลำไยมีการแทงช่อดอกแล้วและการให้สารในช่วงฤดูฝนต้นลำไยมี การออกดอกน้อย จากการทดลองของ พาวินและคณะ (2544)พบ ว่า การให้สารกับต้นลำไยในช่วงฤดูหนาวและฤดูร้อนมีการออกดอกได้ดีกว่าช่วงฤดูฝน ซึ่งลำไยมีการออกดอกค่อนข้างช้าเนื่องจากเป็นช่วงที่มีฝนตกบ่อยมากทำให้เกิด การชะล้างสารมาก และในฤดูฝนอากาศจะมืดครึ้มมีแสงแดดน้อย ทำให้ต้นลำไยออกดอกช้าหรือออกดอกน้อย และการผลิตลำไยในช่วงฤดูฝนมีปัญหาเรื่องโรคและแมลงระบาดก็ฉีดสารป้องกัน กำจัดลำบากเนื่องจากฝนตกบ่อยทำให้ชะล้างสารเคมีที่พ่น
  4. 4.การติดผลต่ำ มัก จะเกิดกับการให้สารในช่วงก่อนฤดูกาลและดอกลำไยไปบานในช่วงฤดูหนาว ซึ่งอาจเกิดจากในช่วงฤดูหนาว การงอกของละอองเกสรต่ำ และแมลงช่วยผสมเกสรอาจจะออกหาอาหารน้อยในช่วงอากาศเย็น (โดยเฉพาะทางภาคเหนือ) ซึ่งหลังให้สารในช่วงเดือนตุลาคมถึงเดือนพฤศจิกายน นั้นหลังจากต้นลำไยมีการออกดอกและดอกบานในช่วงที่มีอุณหภูมิต่ำในเดือน ธันวาคมถึงมกราคม มีผลทำให้การติดผลต่ำ หรือดอกบานในช่วงที่มีฝนตกติดต่อกันอาจทำให้การติดผลต่ำ
  5. 5.การให้สารซ้ำ คือให้สารซ้ำต้นเดิมในปีการผลิต โดยไม่ให้ลำไยแตกช่อใบและให้ต้นลำไยแตกช่อใบ1 ชุด พบว่าต้นลำไยสามารถออกดอกได้ แต่ถ้าต้นที่ไม่ค่อยสมบูรณ์จะมีผลทำให้ช่อดอกสั้นและช่อดอกไม่ค่อยสมบูรณ์ หรือการให้สารในช่วงฤดูฝน ต้นลำไยกำลังแทงช่อใบถ้ามีการให้สารต้นลำไยจะมีการแทงใบอ่อนทันที บางครั้งออกดอกตามหรือบางครั้งเป็นช่อดอกน้อยมากทำให้เกษตรกรมีการให้สารซ้ำ อีก อาจจะทำให้ต้นลำไยโทรมได้ เพราะรากลำไยถูกทำลายมาก

การใช้สารให้ปลอดภัยต่อสภาพแวดล้อม

การ ให้สารทางดินนั้นคงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะไม่ให้มีสารเหลือตกค้างในดิน ในแหล่งน้ำหรือในสภาพแวดล้อม ทางที่ดีเกษตรกรควรจะทำก็คือ ทำอย่างไรให้ส่งผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมน้อยที่สุด การให้สารทางดินนอกจากมีผลทำให้รากถูกทำลายแล้วยังส่งผลต่อจุลินทรีย์ในดิน ในจุดที่ให้สารบางส่วนตาย การแก้ไขโดยการใส่สารในระดับความเข้มข้นตามที่นักวิชาการแนะนำไม่ใส่มากเกิน ความจำเป็นดังที่ได้กล่าวมาแล้ว หรืออาจมาใช้กระตุ้นการออกดอกโดยการพ่นสารทางใบ เป็นต้น
ปัญหา ของการทำลำไยนอกฤดูในอนาคตคือการเตรียมต้นลำไยให้มีความสมบูรณ์ก่อนการใช้ สารกระตุ้นการออกดอกและทำอย่างไรไม่ให้ต้นลำไยมีการออกดอกและติดผลมากเกินไป หรือ ออกดอกมากแต่ไม่ค่อยติดผล ที่สำคัญคือการผลิตลำไยให้มีคุณภาพตามที่ตลาดต้องการหรือทำให้ผลผลิตลำไยได้ เกรดจัมโบ้มากๆ ซึ่งต้องอาศัยการจัดการหลายๆ ด้าน เช่นการควบคุมโรคและแมลง การจัดการด้านธาตุอาหารและการจัดการเรื่องน้ำ ซึ่งในอนาคตการผลิตลำไยจะแข่งขันกันในด้านคุณภาพมากขึ้น การใช้สารเคมีหรือสารกระตุ้นการออกดอกของลำไยผู้ใช้จะต้องมีความระวัดระวัง และให้คิดเสมอว่าสารเคมีที่ใช้มีอันตรายจะต้องมีการปฏิบัติให้ถูกต้องและทำ อย่างไรกับการใช้สารเคมีให้มีความปลอดภัยสูงที่สุด รวมทั้งผู้ผลิตจะต้องคำนึงถึง การลดต้นทุนการผลิตซึ่งสามารถทำได้โดยการลดการใช้สารเคมีทุกชนิดลงหรือใช้ ให้เหมาะสม และผลผลิตต้องมีคุณภาพ

 

เอกสารอ้างอิง

  • กรมวิชาการเกษตร.2542. คำแนะนำ การใช้สารกลุ่มคลอเรตเร่งการออกดอกลำไยอย่างปลอดภัย. พิมพ์ที่ โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด. 22 น.
  • ชิติ ศรีตนทิพย์ สันติ ช่างเจรจาและยุทธนา เขาสุเมรุ.2542. ผลของสารโพแทสเซียมคลอเรต (KClO3) ต่อ การออกดอกนอกฤดูของลำไยพันธุ์ดอ. รายงานการสัมมนาฮอร์โมนพืชเพื่อการผลิตไม้ผลนอกฤดู. จัดโดยสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและสมาคมวิทยาศาสตร์การเกษตรแห่ง ประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์. วันที่ 9-11 มิถุนายน 2542 ณ โรงแรมเคพีแกรนด์. จันทบุรี.
  • ชิติ ศรีตนทิพย์ ยุทธนา เขาสุเมรุ สันติ ช่างเจรจาและรุ่งนภา โพธิ์รักษา.2544. ผล ของโพแทสเซียมคลอเรต โซเดียมไฮโปคลอไรท์ และแคลเซียมไฮโปคลอไรท์ ต่อการออกดอกของลำไยพันธุ์ดอ. ใน เอกสารประกอบการประชุมวิชาการพืชสวนแห่งชาติ ครั้งที่ 1. จัดประชุมโดย สถาบันวิจัยพืชสวน กรมวิชาการเกษตร. ระหว่าง วันที่ 11-13 กรกฎาคม 2544 ณ. โรงแรมมิราเคิลแกรนด์. กรุงเทพ ฯ.
  • พาวิน มะโนชัย วรินทร์ สุทนต์ วินัย วิริยะอลงกรณ์ นภดล จรัสสัมฤทธิ์ และเสกสันต์ อุสสหตานนท์.2544. การผลิตลำไยนอกฤดูและการใช้สารโพแทเซียมคลอเรต. ใน เอกสารประกอบการฝึกอบรม เรื่อง การจัดการสวนลำไย จากงานวิจัยสู่เกษตรกร ครั้งที่ 1 ในระหว่างวันที่ 14-15 พฤษภาคม 2544 และครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 1-2 มิถุนายน 2544 ณ. สำนักบริการวิชาการ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ร่วมกับสมาคมผู้ปลูกลำไยแห่งประเทศไทย.

-สนใจสารราดลำไยหรือสูตรการราดสารลำไยและสูตรการพ่นสารลำไยทางใบ กรุณาติดต่อ เทวินการเกษตร 089-5599056 บริการส่งทั่วประเทศ หรือ คลิกกดที่นี่…..

 

แหล่งที่มา

ยุทธนา เขาสุเมรุ ชิติ ศรีตนทิพย์ สันติ ช่างเจรจาและรุ่งนภา โพธิ์รักษา
สถาบันวิจัยและฝึกอบรมการเกษตรลำปาง ตู้ ปณ. 89 อ. เมือง จ. ลำปาง 52000
โทรศัพท์ 0-5434-2553 โทรสาร 0-5434-255 http://khaosumain.rmutl.ac.th/?p=75

19 ส.ค.53 20.23 น.

เทคนิคการทำสวนลำไยและการราดสารลำไย

สินค้าของเรา